วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

“วิชาชีพสถาปนิก อาชีพในทรรศนคติของข้าพเจ้า”


    
                แรกเริ่มเลย ผมไม่รู้จักหรอกครับคำว่า “สถาปัตย์” ไม่เคยรู้ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร ทำอะไร และคืออะไร ความฝันในวัยเด็กแรกเริ่มของผมคือนักบินอวกาศครับ อยากขับยานอวกาศ สำรวจดาวเคราะห์ ลอยเคว้งในอวกาศ เหยียบดวงจันทร์ อะไรทั้งหลายแหล่ ที่ไม่สามารถทำบนโลกได้ พอเขยิบโตขึ้นมาได้อีกนิด ในช่วงนั้น การ์ตูนที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล รถแข่ง หุ่นยนต์ กำลังเป็นที่นิยมไม่น้อยเลยทีเดียว ผมถามแม่ว่า “แม่ครับ ใครเป็นคนสร้างหุ่นยนต์อะ”...“วิศวกร” แม่บอกผม....”โอ้ว...วิศวกรเหรอฮะ” เป็นอะไรที่เท่สุดๆไปเลยนะครับ สร้างหุ่นยนต์ หุ่นรบสงคราม “วิศวกร” กลายเป็นความฝันใหม่ของผมเรื่อยมา พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษา ถึงแม้ความเป็นเด็กจะลดน้อยลงไปบ้าง ใช้เหตุผลมากขึ้น ก็ยังรู้สึกว่า วิศวกร เป็นอาชีพที่เท่ เป็นหน้าเป็นตาให้ครอบครัวได้ และมีรายได้ดี ผมฝันเช่นนั้นครับ


                ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ใกล้แอดมิดชั่น จะเรียกว่าเริ่มค้นพบตัวเองรึเปล่า ก็ไม่ใช่ เพียงแค่รู้สึกว่า “ผมเบื่อวิศวะ” คิดว่าที่ผ่านๆมา ก็แค่อ่านหนังสือ เรียนๆๆ สอบๆๆ คะแนนเยอะๆๆ ผมเริ่มสงสัยว่า มันต้องเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆเลยหรือ
                ป้องและไม้ เพื่อนสนิท ที่ทำให้ทรรศนคติและมุมมองเกี่ยวกับการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ผมได้เจออะไรใหม่ๆ ได้เห็นอะไรใหม่ๆ สนุกกับการทำงานด้าน MediaGraphic ออกแบบ งานศิลปะ คิดๆๆ และสร้างออกมา....เพื่อน2 คน ที่นำพาชีวิตผมเข้าสู่สายงานของ Creative ทำให้ผมได้เรียนรู้อีกซีกหนึ่งของสมองที่อยู่ในตัวผมเอง

                ช่วงเทศกาลสอบ ผมตะเวนสอบตรงทั้งวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จนสามารถติดรับตรงในคณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ส่วนคะแนนแอดมิดชั่น ก็เป็นที่น่าพอใจพอสมควร คะแนนสามารถเทียบเคียงกับสถิติของคณะวิศวกรรม ได้อย่างน่าลุ้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุด ในชีวิตการเรียนเลยก็ว่าได้ ทางครอบครัวเอง ถึงจะบอกให้ผมตัดสินใจเอง แต่ผมก็รู้สึกได้ว่าค่อนข้างจะโอนเอนไปทางวิศวกรรม ก็แน่นอนล่ะครับ วิศวกรรมเองก็เป็นอะไรที่ดูมีอนาคตที่ดียากครับ ยากมาก แต่ลึกๆ ก็แอบตื่นเต้น อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้คิด ได้ทำ ได้สร้างสรรค์ มากกว่า ......... หลังจากที่ได้นั่งคิด นอนคิด มาหลายวัน จนในทีสุดผมก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะเป็น “เด็กถาปัตย์”ครับ

                ชีวิตการเป็น “เด็กถาปัตย์” ในปีแรก สนุกครับ อะไรๆ ก็ใหม่ไปหมด ได้ทำโน่นนี่ ใหม่ๆ วิชาเรียนใหม่ๆ Deline Drawing Visual Construction บอกได้ว่าในแต่ละวันชีวิตเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ว่าวันต่อๆไปจะต้องพบเจอกับอะไร วัฒนธรรมใหม่ๆ คำว่า “รุ่นพี่-รุ่นน้อง” สายรหัส ประทับใจในหลายๆอย่างของสังคม “สถาปัตย์” แห่งนี้
สิ่งสำคัญ “งาน” และ “ความรับผิดชอบ” คือสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นช่วงปรับตัวจาก “นักเรียน” ไปเป็น “นักศึกษา” นะครับ การจัดการชีวิต ระเบียบการทำงาน ผมไม่ได้พักที่หอ ไป-กลับ บ้านทุกวัน ยิ่งต้องจัดการระเบียบของชีวิตตัวเอง ใช้เวลาจูนสักพักใหญ่ๆ กว่าชีวิตจะชินกับสภาพนี้ได้ การอดนอน ความอดทน ความพยายาม จากที่นั่งรถเลยป้ายบ่อยๆ ก็สามารถตื่นพอให้พอดีกับป้ายได้ ผมว่าชีวิตปีหนึ่ง เป็นบททดสอบแรก ที่ถามและทบทวนตัวเราว่าที่เป็นอยู่นี้ มันใช่ตัวเรารึเปล่า เราไหวไหม “ถ้าคิดว่าใช่ ถ้าคิดว่าถูก ก็จงทำให้เสร็จและเต็มที่”
ปีแรกผ่านไปอย่างทุลักทุเล บอกตรงๆว่าเหนื่อยครับ จากชีวิตเด็กๆ มัธยมชิวๆ กลับบ้านเล่นคอมพิวเตอร์ อ่านการ์ตูน เตะฟุตบอล เป็นการปรับตัว ปรับชีวิต ที่ทำให้เราก้าวขึ้นไปอีกระดับของภาวะความรับผิดชอบ การใช้ชีวิตที่มากขึ้น “เมื่อเรารู้หน้าที่ของตนเอง ว่าควรทำอะไร เมื่อไหร่และอย่างไร นั่นคือเวลาที่เรากำลัง เติบโต”


ปี 2 หลายอย่างเริ่มลงตัวสำหรับผม ทักษะต่างๆ ที่อาจารย์วางพื้นฐานมาในปีหนึ่ง คำแนะนำจากรุ่นพี่ๆ จากสายรหัส ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่ ถือเป็นอีกปีหนึ่ง ที่นาฬิกาชีวิตเดินไปอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาการทำงานดูจะเยอะกว่าช่วงเวลาพักผ่อนอย่างเห็นได้ชัด ฮ่าฮ่าฮ่า ถึงจะอย่างงั้น ทุกอย่างก็ยังผ่านไปได้ด้วยดี ... ภายหลังจากสอบเสร็จ ในช่วงปิดเทอม ในปีนี้ผมกับเพื่อนๆ ด้วยความฟิต ได้ติดต่อผ่านทางอาจารย์วิวัฒน์ อุดมปิติทรัพย์ ให้ช่วยหาอะไรให้ทำ อาจารย์แนะนำให้ลองไปฝึกงานดูไหม ผมและเพื่อนๆ ตกลงกัน พากันไปฝึกงานที่ Roof Company Limited ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ได้รู้อะไรหลายๆอย่าง ที่เป็นชีวิตหลังเรียนจบ สภาพการทำงานจริงๆ ได้ไปลงพื้นที่จริง รุ่นพี่ๆ ก็ใจดีมากๆ ทั้งให้ความรู้ พาไปเที่ยว ต้องขอบคุณอาจารย์วิวัฒน์ ท่านเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมชื่นชมในตัวท่าน ที่มองการณ์ไกลและให้การสนับสนุนรุ่นน้องอย่างเต็มที่ “โอกาสเล็กๆ ที่มอบให้มา ได้จุดประกายความฝันที่ยิ่งใหญ่ให้กับรุ่นน้องและลูกศิษย์คนหนึ่ง”

ภายหลังจากปิดเทอมสุดเหวี่ยงที่ผ่านมาในปี 2 บรรยากาศในปี 3 ทั้งความเคยชิน ความอึดที่ผ่านๆมา ทำให้ในปีนี้ถึงแม้งานต่างๆ จะไม่ได้น้อยไปกว่ากันสักเท่าไหร่เลย แต่กลับรู้สึกสบายๆ คงเป็นเพราะความชินนั่นแหละครับ ในปีนี้ การออกแบบมีความซับซ้อนขึ้นอย่างชัดเจน จากบ้าน เข้าสู่การออกแบบที่ครอบคลุมวงกว้างมากขึ้น ชุมชน สภาพแวดล้อม การวางผัง เนื้องานมีความเป็นสาธารณะมากขึ้น ถึงจะมีขนาดงานที่ใหญ่มากขึ้น แต่ส่วนตัวแล้วผมรู้สึกสนุกนะครับ เป็นงานที่สามารถเล่นอะไรกับสถาปัตยกรรมได้มากกว่า ความต้องการของผู้ใช้โครงการ คือ ประวัติศาสตร์ ภูมิหลัง อิทธิพลต่อชุมชน ให้ออกมาสู่งานออกแบบของเรา ได้มีโอกาสใช้ concept เป็นครั้งแรก และมีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก ถึงจะสะดวก อิสระมากกว่างานมือ แต่ก็มีอะไรบางอย่างที่ขาดไป เสน่ห์ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาจากคอมพิวเตอร์ได้ ภายหลังจากโปรเจคตัวสุดท้าย ผมได้ไปฝึกงานกับพี่พงษ์สวัสดิ์ ในช่วงปิดเทอมกับออฟฟิต NPAAE เป็นออฟฟิตเล็กๆ อบอุ่นๆ ของพี่พงษ์ รุ่นพี่ ลาดกระบังความรุ้สึกต่างออกไปจาก Roof ที่เป็นออฟฟิตใหญ่ ตรงที่เราได้จับโปรเจคจริงๆ ได้คุยและรับงานจากสถาปนิกจริงๆ เป็นบรรยากาศของการทำงานจริงๆ ก็เป็นความประทับใจไปอีกแบบสำหรับการฝึกงานในปีนี้ได้ความรู้และแง่คิดมากมายเกี่ยวกับกระบวนการในการทำงาน การวางแผนงาน และความกดดันจากลูกค้า “สิ่งที่ซึมซับมาไม่ใช่แค่ความรู้ แต่เป็นข้อเตือนใจให้ตระหนักถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะสถาปนิก”

ตอนนี้ผมอยู่ปี4 แล้ว ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นบททดสอบอีกบทหนึ่งเลยก็ว่าได้ ได้ยินจากพี่ๆ อาจารย์ขู่ไว้มาก ได้มาเจอเข้ากับตัวเองถึงจะรู้สึกถึงความทรหดของปีที่4นี้ งานที่มากขึ้น งานกลุ่ม ความขัดแย้ง การระดมสมอง ความร่วมมือ เห็นได้ชัดว่า ในปีนี้เน้นหนักไปที่การทำงาน โดยเฉพาะการทำงานเป็นกลุ่ม การร่วมมือกันในทีม เราได้เห็นนิสัยส่วนตัวของแต่ละคน ได้รับรู้พฤติกรรมต่างๆของเพื่อน แน่นอนว่าสิ่งที่สะท้อนออกมาคือในอนาคต เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้คนมากหน้าหลายตา ปัญหามักเกิดได้ในทุกๆที่และทุกๆเรื่อง การแก้ปัญหาและการประนีประนอม จะทำให้งานสามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจากการทำงานแล้ว วิชาเรียนใหม่ๆ ที่ทำให้ผมประทับใจที่สุดคือ สถาปัตยกรรมไทย การได้เรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานมรดกทางสถาปัตยกรรม เป็นความภาคภูมิใจ ของการได้มีส่วนในการอนุรักษ์มรดกชิ้นนี้ไว้ ท่านอาจารย์ภิญโญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทย ท่านเป็นครู ที่ยึดมั่นอย่างแน่วแน่ในแนวทางนี้ เป็นแรงดันดาลใจที่สำคัญให้กับ ว่าที่สถาปนิกรุ่นใหม่ๆ“ต้นกล้าของความคิดต้นใหม่ ที่จะเติบโตภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่”


จนถึงตอนนี้แล้ว ชีวิต “เด็กถาปัตย์” ที่ผ่านมา 3 ปี ได้เปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในชีวิตผมอย่างมากมาย การทำงาน การกิน การนอน การใช้เวลา เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนหลายๆคนอย่างเห็นได้ชัด ในปี4นี้ ทุกๆคนดูเติบโตขึ้น ทั้งความคิด และการทำงาน ในโปรเจคชิ้นสุดท้ายที่กำลังจะใกล้เข้ามา TheSis ผมเองได้มองเห็นปัญหาในเรื่องของ “พลังงาน” ที่เป็นวิกฤตกันในปัจจุบัน ซึ่งเหมือนว่า นอกจากพึ่งพาพลังงานสะอาดจากธรรมชาติที่ดูเหมือนจะเป็นทางออกแล้ว มนุษย์น่าจะค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ที่สามารถมาเป็นพลังงานสะอาดใหม่ๆให้กับโลกได้ หวังว่า “ศูนย์วิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาดทางเลือก” จะช่วยจุดประกายความคิดด้านพลังงานทางเลือกใหม่ๆให้กับโลกใบนี้


แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ในปิดเทอมที่จะถึงนี้ ได้ดูๆและสอบถามไปยังหลายๆที่ แต่ก็ยังไม่ได้ติดต่อไปยังทางออฟฟิต ทางอาจารย์ดร. รวิช จึงได้แนะนำ FOSFOUNDRY OF SPACE” ออฟฟิตของรุ่นพี่จากศิลปากร เป็นออฟฟิตที่ทำงานในเชิง concept ผมเองก็คิดว่าเป็นแนวทางที่ผมให้ความสนใจ คิดว่าพี่ๆที่ FOS น่าจะให้อะไรที่เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ นอกมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดีตั้งแต่กระบวนการคิดโปรเจคconcept กระบวนการคิดแมสฟอร์ม องค์ประกอบทางความงาม ผมหวังไว้เช่นนั้น

ในการเรียนและการทำงานในวงการสถาปัตย์นี้ จำเป็นอย่างมากที่เด็กคนหนึ่ง จะก้าวขึ้นมาเติบโต และมีแรงบันดาลใจ เป้าหมายที่ชัดเจนได้ จำเป็นจะต้องเรียนรู้แนวคิดบางอย่างจาก “คนต้นแบบ” .... สำหรับผมนั้น คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ต้นแบบ” คือ คุณอมตะ หลูไพบูลย์ ครับ เจ้าของรางวัลประกวดระดับประเทศและระดับเอเชียมากมาย ผลงานแรกที่ทำให้ผมได้รู้จักกับ คุณอมตะ และทำให้ผมประทับใจ คือ SALA RESORT PHUKET ครับ เป็นงานออกแบบที่ผสมผสาน ลักษณะพื้นถิ่นเฉพาะ “ชิโนโปตุกีส”กับรูปแบบโมเดิร์นสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว การดึงองค์ประกอบพื้นถิ่นทั้งรูปแบบอาคารเก่า ลักษณะของปูนปั้นลายไทย-จีน โทนสี space และการวางผังภูมิทัศน์ ถือเป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่ผมชื่นชอบงานหนึ่งเลยทีเดียว จากงานนี้ ทำให้ผมรู้จักคุณอมตะ เป็นครั้งแรก ได้อ่านหนังสือ บทความสัมภาษณ์ ทำให้ยิ่งประทับใจในประวัติชีวิตและแนวคิดของเขามาก

เป้าหมายผมคือเป็นสถาปนิกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรงหรือตัวเองช้าเกินไปที่จะทำสิ่งใหม่ๆ"
การสร้างโอกาสของแต่ละคนอาจจะต่างกัน เพียงแต่ว่าเราเลือกและทำหรือเปล่า หรือว่าเราจะใช้ชีวิตแบบไปเรื่อยๆ แล้วก็ผันตัวออกไปทำอะไรที่ก๊อกแก๊กลงไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตัวเองเก่งมากเพราะคิดแต่ว่าไม่มีโอกาส ผมว่าทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เราเลือกว่าเราจะเป็นอะไร
หลายๆแง่คิด หลายๆคำพูดที่คุณอมตะ ได้พูดไว้ โดยเฉพาะที่ว่า... “เลือกชีวิตที่ใช่ ในแบบของคุณ” ความเป็นตัวของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าหากคิดว่ามันใช่ ก็จงทำมันให้ถึงที่สุด เป็นหนึ่งคนที่สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนพลัง ที่จะสร้างสรรค์ออกแบบ สำหรับผมและคนรุ่นใหม่อีกหลายๆคน


ตัวผมเอง ในเมื่อทางเส้นนี้เป็นทางที่ผมเป็นคนเลือกเอง ถึงจะขัดใจครอบครัวก็เถอะ แต่เพราะครอบครัวนี่แหละ ที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้ พ่อ แม่ น้องชาย ทุกๆคนเป็นแรงผลักดันให้ผมต้องทำในสิ่งที่ทำอยู่ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ผมมักเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ใครที่อยู่เบื้องหลังของผมบ้าง “ในฐานะของลูกชายคนโตแล้ว ทุกคนที่อยู่ในบ้านเดียวกับผม จะต้องไม่ลำบาก”
               
               การเป็นสถาปนิก เป็นเป้าหมายแรกที่ผมอยากทำให้สำเร็จ ผมไม่คาดหวังจะเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงหรือร่ำรวย ขอแค่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน ชุมชนและสังคมให้เข้าใจและตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกของเรา และสามารถใช้สถาปัตยกรรมเป็นสื่อ เพื่อสื่อสารให้ผู้คนได้รู้สึก ให้เข้าใจถึงสิ่งที่ถูกทำลายไปด้วยน้ำมือของมนุษย์ นักออกแบบที่ดี “ความใหม่” ไม่จำเป็นต้องล้ำเสมอไป ความใหม่ที่แท้จริง ควรจะเป็นความใหม่ที่สามารถเข้าไปแทรกและกลมกลืนกับ “ความเก่า” ได้มากกว่า นั่นคือการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง “Timeless” ความเหนือกาลเวลา ผมหวังว่า เมื่อวันนั้นมาถึง วันที่ผมได้เป็น “สถาปนิก” ความสุขจากการที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และความสุขจากการที่ได้ทำเพื่อชุมชนและสังคม จะเป็น “ความสุข” ที่ผมตามหาอยู่...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น