วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สถาปนิก Idol รุ่นพี่ลาดกระบัง "พี่โต้ ต้นคิดดีไซน์"

บทสัมภาษณ์สถาปนิกรุ่นพี่ที่ประทับใจ
Professional Practice #3

พี่โต้ เจ้าของบริษัทสถาปนิก ต้นคิดดีไซน์ จำกัดและ Design Director บริษัท Right Man Co,Ltd. พี่โต้ หรือ คุณวรงกฤษณ์ เกียรติศักดาวงศ์ พี่โต้เป็นสถาปนิกที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการเป็นสถาปนิกมายาวนาน มีบริษัทที่ครบวงจรเป็นของตัวเอง ผมติดต่อพี่โต้ ผ่านทางพี่พงษ์สวัสดิ์ พี่พงษ์ เป็นคนแนะนำพี่โต้ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของพี่พงษ์ ให้ผมได้รู้จัก นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการสร้าง Connection ของลาดกระบังของเราให้แข็งแรงและเป็นการให้คำแนะนำรุ่นน้อง ก่อนที่จะจบไปสู่การเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่อย่างเต็มตัว


 เริ่มต้นการพูดคุย ในวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 13.53น. - 14.30น.

 >>> พี่โต้ ช่วยเล่าประวัติพอสังเขป ชีวิตหลังเรียนจบหน่อยครับ
Babdara Resort สมุย
หลังจากที่พี่จบการศึกษาเมื่อปี 2546 ครับ ก็ได้เข้าทำงานกับบริษัทออกแบบ “Leo-Inter” ทันที เป็นออฟฟิตที่อยู่แถวถนนสุขุมวิท 19 งานส่วนใหญ่เป็นงานประเภทรีสอร์ท ทำอยู่ที่นั่นได้ประมาณ 3 ปี ก็มาร่วมหุ้นกับเพื่อนที่เป็น Interior เปิดออฟฟิตด้วยกัน ชื่อบริษัท “ต้นคิดดีไซน์” จะมีครบวงจรทั้งส่วนออกแบบ ส่วนวิศวกรโครงสร้าง วิศวกรงานระบบ ครบวงจร และเป็น Design Director ให้กับบริษัท Right man ที่เป็นของเพื่อนรุ่นเดียวกันและเป็นอาจารย์ภาค ศอ. “อาจารย์เต้น”

ชีวิตในการทำงานตอนอยู่ออฟฟิต คนอื่นๆเขาก็จะมีรับงานนอกบ้าง แต่พี่ไม่ได้รับเลย ตอนทำงานพี่จะเต็มที่กับมันมาก เพราะงานที่พี่ทำ ส่วนใหญ่ที่พี่ทำก็จะเป็นพวกงาน “บ้าน” ครับ คือจำเป็นต้องเอาใจใส่กับมันมากๆ สำหรับบ้าน หลังใหญ่สุดที่เคยทำจะพื้นที่ประมาณ 1200 ตารางเมตร งานออฟฟิตก็ประมาณ 2500 ตารางเมตร มีพวกงานรีสอร์ทบ้าง The Briza Resort ที่เขาหลัก พังงา แต่ว่าโดนสึนามิไปแล้ว แล้วก็มี Babdara Resort ที่สมุย งาน Renovate โรงแรมเก่าแถว Park Avenue

บ้าน Zantti สุขุมวิท 39 

 >>> พี่คิดว่า ผลงานของพี่ชิ้นไหน ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติวิชาชีพ คือชิ้นไหน
ก็ชอบทุกชิ้นนะครับ ฮ่าๆๆ ส่วนใหญ่ งานที่พี่ทำเยอะๆ ก็จะเป็นพวกงาน "บ้าน" พี่รู้สึกว่าจริงๆแล้วการออกแบบบ้านมันยากนะ ใช้เวลานาน รายละเอียดต่างๆ บางหลังนี่อยู่กับมันนานมากๆ กว่าจะได้แบบที่ถูกใจทั้ง 2 ฝ่ายจริงๆ อย่างบ้านที่สุขุมวิท 39 หรือว่าที่ทองหล่อนี่ กว่าจะเสร็จนี่ ใช้เวลาเกือบ 3 ปี ช่วงออกแบบใช้เวลาไม่เท่าไหร่ แต่จะนานช่วงระยะก่อสร้าง หน้างานอะไรพวกนี้ บ้านพอมันสเกลประมาณพันตารางเมตรขึ้นไป มันจะเริ่มใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะว่าเราจะต้องโคกับทาง Interior ด้วย กับทาง Lanscape กับวิศวะด้วย พวกงานระบบแปลกๆ แต่ว่า มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น


>>> ช่วยเล่าประสบการณ์งานออกแบบจริงหลังแรกของพี่โต้

บ้านสัจจาภรณ์ จ.จันทบุรี
งานชิ้นแรกของพี่เป็นงาน Renovate อะ แต่ถ้าออกแบบจริงๆ
เลยจะเป็นบ้านที่จันทบุรี 1200 ตร.ม. สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอได้งานแล้วแบบ พี่ดีใจมาก ได้ค่าแบบเยอะอยู่ แต่ว่าพื้นที่มันไกล ตอนนั้นคิดว่าแบบสบายละ มีเงินใช้ละ ปรากฏว่าระยะเวลาในการเดินทางเอย ระยะเวลาของงานเอย ค่าใช้จ่ายต่างๆนาๆในระหว่างที่ทำแบบ กลายเป็นว่าสุดท้ายก็ไม่ค่อยเหลืออะไร ฮ่าๆๆ แต่สิ่งที่มันได้กลับมา คือ เราได้ connection ได้ความสนิท ได้อะไรหลายๆอย่าง

พี่ว่า ถ้าเกิดว่า เราทำงานเต็มที่อะ ตั้งแต่พี่จบมา พี่บอกเลยว่ายังไม่มีช่วงไหนที่พี่ไม่มีงาน ด้วยความที่ว่า เราทำงานแล้วเจ้าของค่อนข้างแฮปปี้กับผลงานที่ออกมา ก็เหมือนกับเป็นประวัติของเรา ที่โฆษณาแทนเราไปในตัว ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่รู้สไตล์งานของเรา จากคำแนะนำของเจ้าของบ้านที่แนะนำซึ่งลูกข้าที่เข้ามาเพราะพร้อมที่จะเชื่อถือเรา เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องแบบจะไปโฆษณา จะไปแข่งขันกับใคร และเขาก็จะรู้ระดับของเราด้วย ว่าเราจะอยู่ประมาณไหน

>>> อุปสรรคในการปฏิบัติวิชาชีพ

พี่ว่านะ เรื่องการชี้แจงให้เจ้าของโครงการเข้าใจเรื่องพวกค่าแบบ ค่าออกแบบ คือการทำให้เขายอมรับในตัววิชาชีพของเรา ซึ่งกว่าที่เราจะคิดงานกันออกมาได้เนี่ย มันก็ใช้เวลา กว่าจะกลั่นออกมาจากสองมือของเรา


Markland Boutique Retail Space พัทยาเหนือ

อีกอย่างหนึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของงานด้วย งานที่เป็นพวก Commercial เนี่ย เราจะใช้เวลาในการทำแบบดีไซน์เยอะหน่อย เพราะว่าเราจำเป็นต้องคุยกับ การตลาด พวกนี้ แต่หลังจากที่มันตกตะกอนเรียบร้อยแล้วเนี่ย งานก่อสร้างมันจะง่ายละ ง่ายขึ้น จะสามารถจบงานได้ง่ายมากๆ ส่วนหนึ่งคือเราจะมีระยะเวลาที่แน่นอน อย่างพวกคอนโด หรือรีสอร์ท ทางเจ้าของเขาจะมีกำหนดการเปิดอะไรพวกนี้ที่แน่นอนอยู่ว่าต้องเสร็จอยู่แล้ว งานสำนักงาน เจ้าของเขาก็ไม่ได้เข้าไปใช้ตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาก็เอาแค่ภาพรวมเสร็จ ใช้งานได้ แอร์เย็น ทุกอย่างก็จบ แต่ว่าพอเป็นงานบ้าน เจ้าของเขาก็เหมือนกับแบบ เอาตัวเองเข้าไป พอถึงเวลาเนี่ย พอเขานึกภาพตาม เขาจะเริ่มสนุกกับมัน กลายเป็นว่าบางอย่างเนี่ย เราต้องปรับตามความต้องการของเขาด้วย เพราะยิ่งบ้านสเกลใหญ่ๆ เจ้าของก็จะมีงบประมาณในการเล่นเยอะ มันเหมือนว่าบางทีพอเขาเห็นภาพแล้วเนี่ย เขาก็จะสนุกไปกับงาน มันก็จะสามารถปรับเปลี่ยนได้บ้างนิดหน่อย และบางทีความสวยในมุมมองของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน คือสิ่งที่เราคิดอยู่ในหัวเนี่ย เจ้าของเขาก็ไม่ได้คิดเหมือนเรานะ ทำให้ความคิดมันคาดเคลื่อนกันบ้างละ

หลายๆคนจะบอกรุ่นน้องๆว่า ระวังเรื่องโดนโกงค่าแบบบ้าง อะไรบ้าง แต่พี่ไม่เคยโดนโกงนะ ได้ค่าแบบทุกงาน คือเหมือนพี่โชคดีที่ว่า ลูกค้าที่มาเขาจะสกรีนคนมาให้เราแล้ว และเขาก็เชื่อถือเรา และเราก็ทำให้อยู่ในระดับที่เขาพอใจมาตลอด พี่ก็เลยได้เงินค่าแบบทุกบาททุกสตางค์ บางทีก็ได้เพิ่ม เวลาเขาเห็นว่าเราทำงานให้เขาเยอะ พี่จะสอนน้องว่ามันขึ้นอยู่กับการทำงานของเรามากกว่า ต่อให้น้องจะทำงานกับคนที่เคี่ยวขนาดไหน คือพี่ก็เคยทำงานกับแขกนะ ที่เขาบอกว่าแขกเคี่ยว พี่ก็ทำบ้านให้เขา สุดท้ายมีการปรับแบบ พี่ก็อธิบายให้เขาฟัง สุดท้ายเขาก็จ่ายเงินเพิ่มให้ ไม่มีปัญหาอะไร ทุกวันนี้เราก็ยังติดต่อกันอีก มันอยู่ที่ว่าเราทำให้เขาพอใจ ทำให้เขาได้เห็นภาพบ้านในหัวของเขาจริงๆรึเปล่า ถ้าเราสักกะว่าออกแบบ โดยไม่คิดว่าเป็นแบบของเขา ถ้าเขาไม่พอใจขึ้นมา เขาก็ไม่อยากจ่ายจริงเปล่า เขาจะยอมจ่ายเงินทำไมตั้งหลายแสน กับแบบที่ไม่ใช่แบบที่เขาอยากได้ พี่ว่ามันอยู่ที่จุดนี้แหละ

>>> ความแตกต่างระหว่างตอนเรียนกับการทำงานจริง

บ้านทองหล่อ 19
พี่ว่านะ ความแตกต่างของคนที่จบใหม่กับคนที่ทำงานได้ซัก 3 ปี เนี่ย เราจะเริ่มกล้าที่จะทำงานมากขึ้น แรกๆที่เราจบมา เราจะกลัวที่จะทำโน่นทำนี่ จะใช้เวลาในการตัดสินใจทำอะไรช้าหน่อย แต่พอผ่านไปสักระยะ เราจะเริ่มสามารถที่จะตัดสินใจในการทำงานได้เร็วขึ้น แต่ว่า สุดท้ายเวลางานที่มันเสร็จแล้วอะ พอมันส่งขออนุญาติ for con เราจะใช้เวลาในการทำจะทำให้มันจบสวย ยากกว่า มันเหมือนว่าสมัยก่อนอะ เวลาที่เราดีไซน์ พอเราออกแบบๆปุ๊บ เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะจบยังไง ทำอย่างไรให้เจ้าของมีความสุข

สำหรับพี่นะ พอช่วงหนึ่งที่เราคุยกันในการออกแบบ พอพี่เริ่มจับคาแรคเตอร์ของเจ้าของได้ คือเวลาที่เราคุยกับทางลูกค้า เขาจะค่อยๆสื่อออกมา ก็จะทำให้เราจับทางได้ง่ายขึ้น แต่ก็ทำให้เราใช้เวลากับงานที่เป็นพวก Detail Design มากขึ้น เพื่อที่จะให้จบได้เนี้ยบขึ้น สิ่งพวกนี้มันจะค่อยๆสะสมเป็นความรู้ในตัวเราไปเรื่อยๆ มันก็จะทำให้งานออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ และใช้เวลาที่เร็วมากขึ้น

>>> ข้อคิดสำคัญในการทำงาน มีการปฏิบัติตนต่อการทำงานอย่างไร
ทำงานตรงไปตรงมาครับ ชี้แจงข้อดี-ข้อเสียให้กับเจ้าของได้เข้าใจ รับฟังความคิดเห็นของสายวิชาชีพอื่นๆ อย่างที่เราชอบได้ยินกันว่าแบบ “แม่ง..ดีไซเนอร์ชอบแบบมีอีโก้จัด งานระบบจะให้ปรับโน่นนี่นิดหน่อย จะไม่ค่อยอยากปรับกัน” บางอย่างเนี่ย ถ้าเกิดว่าเราไม่ปรับ สุดท้ายแล้ว คนที่รับเคราะห์ก็คือตัวเจ้าของเอง มันก็ต้องแบบ เปิดใจยอมรับในวิชาชีพซึ่งกันและกันนะครับ

พี่ว่าสถาปนิกที่ดี จริงๆแล้วเราเป็นคนที่ทำรูปภาพในหัวของลูกค้า ให้มันออกมาเป็นภาพจริงๆเท่านั้นเองแหละ คือทางที่ดี เราไม่ควรจะไปตั้งเป้าก่อน โดยที่เรายังไม่รู้เลยว่า เจ้าของเขาจะต้องการอะไร อยากได้อะไร พอเราตั้งเป้าไว้ว่าเราจะทำแบบนี้ “ให้มันโมเดิร์นสุดๆ ราคากระจายไปเลย” มันไม่ได้ไง เราก็ต้องดูโจทย์ของเจ้าของด้วย และเดินไปด้วยกันมากกว่า แต่อย่าลืมว่าก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่เราจะต้องอธิบายให้เจ้าของฟังด้วย ว่าแบบนี้มันดี หรือไม่ดี สุดท้าย พอเขาเลือกในสิ่งที่เขาอยากได้ เราก็ต้องทำให้มันออกมาดีที่สุด ที่สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะว่าสุดท้ายแล้วเนี่ย พอเราออกแบบเสร็จ เราก็ไป เจ้าของจะเป็นคนที่อยู่กับมันไปตลอดชีวิต คนๆนึงสร้างบ้านในชีวิตได้แค่ไม่กี่หลังหรอก เพราะฉะนั้นมันควรจะต้องตอบโจทย์เขาก่อน แต่ละคนก็มีโจทย์และความชอบที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการพลิกแพลงของเราด้วย

>>> พี่เคยเบื่อบ้างไหมครับ
ยังไม่มีเลยครับ พี่ยังสนุกกับการทำงานทุกๆชิ้นอยู่เลย แต่ว่าเราก็คงไม่สามารถรับงานเยอะๆได้ตลอดเวลา ในอนาคตงานเราก็อาจจะรับงานน้อยลง เพียงแต่ว่าจะรับโปรเจคที่ใหญ่ขึ้นและใช้เวลากับมันให้มากขึ้น คือแทนที่เราจะรับงานเล็กๆสัก 10 งาน ก็อาจจะรับงานใหญ่ๆสัก 1-2 ชิ้นก็พอ

The Briza Resort & Spa Khoalak
>>> การหาแรงบันดาลใจใหม่เวลาคิดไม่ออก
เที่ยวครับ เที่ยว ส่วนใหญ่ที่จะเที่ยวในประเทศนี่แหละครับ ไปดูอาคาร ดูโน่นดูนี่ ดูรีสอร์ท ดูDetail อะไรแบบนี้อะครับ ถ่ายรูปเก็บไว้ คือการไปเห็นเยอะๆ ดูสิ่งใหม่ๆเยอะๆเข้าไว้






>>> พี่มีความคิดเห็นอย่างไรกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ปกติ สถาปนิกเราก็ถูกสอนมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่แล้วนะครับ ว่าให้ออกแบบตามหลักของทิศทางแดด ลม ฝน อะไรต่างๆนานๆ ตั้งแต่สมัยเรียน ความรู้พวกนี้ พอจบมา เราก็ยังได้ใช้มันอยู่ เป็นพื้นฐานที่จะทิ้งไปไม่ได้ 

ที่ผ่านมาพี่ยังไม่เคยพวกงานชุมชนเลย แต่เร็วๆนี้ กำลังจะได้งานที่เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับบางลำพู งานพวกนี้ก็ต้องรับฟังอะครับ รับฟังเสียงของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆจริงๆ

>>> เรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ
สำคัญครับ สำคัญมากๆ ถ้าเราทำอะไรตรงไปตรงมา มันก็จะเป็นผลดีกับตัวเองอะครับ

>>> สถาปนิกและงานออกแบบที่พี่ชื่นชอบ เห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดี
พี่ชอบงานของ A49 นะครับ ชอบ Detail รายละเอียดในงานของเขา พี่ว่างานดีไซน์ที่มันสวยน่ะ ใครๆก็ทำให้สวยได้ แต่ว่างานที่มันจะจบ โดยสมบูรณ์ สุดท้ายมันก็หนีไม่พ้นเรื่องของ Detail ซึ่งมันต้องอาศัยความละเอียดและความใส่ใจในชิ้นงาน ให้อะไรหลายๆอย่างมันจบได้อย่างสวยงาม




บรรยากาศภายใน RIGHT MAN, CO, LTD

>>> พี่คิดว่า สถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ที่ลาดกระบังผลิตออกมา มีคุณภาพหรือข้อแตกต่างที่เป็นจุดแข็งอะไร
ก็....พี่ว่าโอเคนะ ตอนนี้พี่ก็รับมานี่ ฮ่าๆๆๆ ก็ดูจากหลายๆที่แล้ว ก็คิดว่า สจล. เราก็โอเคนะ ก็สามารถทำงานได้เลย ดีเลยแหละ ใครๆ ก็พูดถึงในแง่ดีนะ พวกข้อเสียที่เห็นๆส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องงาน con นั่นแหละ คือตอนเรียน เราก็เรียนมาอย่างนึง แต่พอสุดท้ายจบออกมา พอได้มาออกแบบ บางอย่างมันก็ไม่ใช่แบบที่เรียนมานะ อันนี้พี่ว่าอยู่ที่รายละเอียดของแต่ละคนมากกว่า กระทั่งงาน Detail ของแต่ละคน ก็เขียนไม่เหมือนกัน เขียนกันคนละแบบเป็นประสบการณ์ที่เราจะต้องสะสมและเพิ่มพูนต่อๆไป สุดท้ายมันก็จะกลายเป็น “ลายเซ็น” ของแต่ละคน

ออฟฟิตพี่ พี่ไม่ค่อยเข้มเรื่องเวลาเข้า-ออกงานเท่าไหร่ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้จักศักยภาพของตัวเอง แล้วเราต้องกำหนดภาพรวมของงาน รู้ว่างานแต่ละงานที่เราจะทำ ใช้เวลานานเท่าไหร่ในการทำ พี่ว่าจุดนี้ที่จะทำให้เรา เป็นคนที่น่าเชื่อถือ เรารับปากอะไรใคร เราก็ต้องทำให้ได้ ขอบเขตงาน ศักยภาพตัวเอง สำคัญครับ

>>> พี่ช่วยเล่าบรรยากาศ สมัยเรียนที่ลาดกระบังว่าเป็นอย่างไร
“ฮ่าๆๆๆ” สนุกดีครับ เฮฮาๆ เมา ตอนสมัยนั้น พี่อยู่หอแถวอัศวะ อยู่ติดกับ สน.จระเข้น้อย ฮ่าๆๆ เมื่อก่อนพี่เคยนอนตรงถนน ริมฟุตบาทด้วย ตอนตี2 ฮ่าๆๆๆ คือเมื่อก่อนนั้นลาดกระบังยังไม่ค่อยมีรถ

การทำงาน ก็คล้ายๆพวกเราแหละ พี่รหัส 41 ตอนช่วงโปรเจค ก็จะไปช่วยพี่ ช่วยน้องกัน แต่บรรยากาศสมัยนี้ไม่เหมือนกับสมัยพี่ สมัยพี่นี่ขึ้นโต๊ะคนละตัวเลย ใช้พื้นที่กันเยอะมาก โต๊ะดราฟไฟ ฐานโมเดล ลงสีน้ำ แปะโทน สมัยนี้พี่เห็นมีโน้ตบุคคนละเครื่องช่วยกัน Present แปลน ใส่เฟอนิเจอร์ hatch ผนังไรงี้ อะไรๆมันเอื้อให้น้องๆมีชีวิตที่ง่ายขึ้นกว่าสมัยของพี่

รับน้อง เชียร์พวกนี้พี่ก็ทำหมดนั่นแหละ สนุกดี มิตติ้งคณะดอยอินทนนท์ ไปถ้ำขุนตาฬ เยอะอะ สมัยนั้นพวกพี่เป็นมิตติ้งรถไฟอะ เหมาโบกี้รถไฟไปกัน แต่ถ้ามิตติ้งภาค ก็แถวๆระยอง เพชรบุรีนั่นแหละ ฮ่าๆๆๆ ไปได้แค่นั้นแหละ งบไม่ค่อยมี

สมัยพี่เรียนไม่ค่อยมีงานนอกให้ทำหรอก สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์น่ะ คือสมัยนั่นเป็นยุคแรกที่เริ่มให้ใช้คอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่ให้ใช้ทำส่งโปรเจคอะ ตอนนั้นยังเป็นโปรแกรม FormC อยู่เลย ฮ่าๆๆ โปรแกรม 3D ก่อน Sketch up จะมา นานมากๆ ตอนนั้นรู้สึกจะเป็น อาจารย์วิวัฒน์ เป็นคนสอนพวกโปรแกรม 3D ยุคแรกๆ พวก FormC , Autocad

พี่ว่าช่วงเวลาในชีวิตตอนมหาลัยนี่แหละที่สนุกที่สุดละ จนถึงทุกวันนี้ เวลาที่พวกพี่ไปงานแต่งงานกันเอง พวกพี่ยังแบบ เช่ารถบัสไปงานแต่งงาน กินเหล้ากันบนรถบัสอยู่เลย บรรยากาศแบบเดิม

>>> หัวข้อวิทยานิพนธ์ตอนปี5
ตอนนั้นพี่ทำ พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์และอวกาศครับ งานมือ แต่พี่ก็แอบขึ้นแมสในคอมพิวเตอร์หน่อยๆ แล้วดราฟเอาฮ่าๆ ผสมๆกันไป ตอนนั้นพี่ตรวจแบบกับอาจารย์อนุสรน์อะครับ ที่ผมยาวๆ ขับมอเตอร์ไซด์ ฮ่าๆๆๆ ที่เสียงหล่อๆหน่อยอะน้อง นั่นแหละครับ สนุกดีครับ

>>> คำแนะนำจากรุ่นพี่ สู่รุ่นน้องสถาปนิกรุ่นใหม่
พี่ว่าน้องๆ ใช้ชีวิตเด็กถาปัตย์ให้คุ้มค่า แล้วค่อยมาลุยงานหนักดีกว่า เราเล่นก็เต็มที่ ทำงานก็เต็มที่อะนะ อาชีพเรา มันเหมือนทำงานตลอดเวลา ทุกวัน ต้องคิดตลอด เพราะงั้นมันต้อง เต็มที่ ทุกวันนี้พี่ทำงานทุกวัน ไม่เว้นเสาร์-อาทิตย์ แต่ถ้าพี่จะพัก พี่จะลายาว เป็นอาทิตย์บ้าง สองอาทิตย์บ้าง อะไรแบบนี้ไปเลย แต่ว่าก็ยังรับโทรศัพท์ประสานงานอะไรพวกนี้อยู่นะ ฮ่าๆๆ แต่ว่าจะไม่ได้ส่งงานอะไรพวกนี้ เมื่อก่อนพี่เคยเอาคอมพิวเตอร์ไปด้วยเวลาไปเที่ยว แต่ว่า กลายเป็นว่าพี่ไม่มีความสุขเลย ในการพัก สุดท้ายเราก็มานั่งทำงาน มันไม่มีความสุขหรอก สู้เราไปชาร์ตแบตให้เต็มที่แล้วกลับมาลุยงานทีเดียวเลยดีกว่า

เราเป็นดีไซน์เนอร์ ถึงแม้ว่าน้องไอซ์จบมาอายุ 24-25 ปีเนี่ย น้องก็เป็นดีไซน์เนอร์ พออายุ 50 ปี เราก็ยังเป็นดีไซน์เนอร์อยู่ วิธีการที่เรารับงาน วิธีการนำเสนองาน ก็ไม่ได้แตกต่างกันเพราะเราอายุน้อยหรืออายุเยอะหรอก เพียงแต่ว่าประสบการณ์มันทำให้เราทำงานง่ายขึ้นก็เท่านั้นเอง เหมือนกับว่าสุดท้าย เราก็ต้องเรียนรู้อยู่ตลอด คิดใหม่อยู่ตลอด มันไม่ใช่งานที่เป็น product อะ มันเป็นงานที่เราต้องคิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ถึงบอกว่า ถ้าเราไม่สนุกกับมัน เราก็จะอยู่กับมันได้ไม่นานหรอก

.................

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณพี่โต้ มากนะครับที่สละเวลา สำหรับการพบปะพูดคุยกันในครับนี้ ถึงแม้จะเป็นเวลาไม่นานแต่ สิ่งที่พี่ได้บอกเล่าให้กับรุ่นน้องคนนี้ฟัง เป็นสิ่งที่พี่สะสมมาเป็นเวลานาน ความรู้ ประสบการณ์และแง่คิดต่างๆ ได้ถูกบอกต่อเพื่อ เป็นแนวทางและเปิดมุมมองให้กับผม ต่ออนาคตของการที่จะจบไปเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ และอาจจะมีโอกาสได้ส่งมองประสบกาณ์เหล่านี้ ให้รุ่นน้องรุ่นต่อๆไปด้วย


ด้วยความเคารพอย่างสูง
พีระ ตรีฤทธิ์ทวีสิน (ไอซ์) 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น